เทรนด์การนำ NFT ไปใช้งานจริง ที่คนส่วนใหญ่รู้จักจะเป็นในแง่ของผลงานศิลปะที่เป็นโทเคน ซึ่งเอาไปใช้เป็นของสะสมหรืออาจจะใช้เป็น PFP (Profile Picture ) ที่เอาไว้โชว์สถานะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่องานศิลปะมาผนวกรวมเข้ากับความ Decentralize ทำให้เกิดกระแสในการนำ NFT ไปใช้ในวงกว้างขึ้นอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน เพราะ NFT นั้นมีความสวยงาม สนุกสนาน เห็นภาพได้ชัดเจน และเข้าใจง่ายในแบบที่บล็อกเชนรูปแบบอื่นๆ ให้ไม่ได้
ในอนาคต NFT จะมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็น วิธีการบริโภคคอนเท้นท์ วิธีการใช้เงินและหารายได้ วิธียืนยันตัวตนของเรา วิธีเข้าร่วมงานต่างๆ วิธีการแต่งตัว ไปจนถึงวิธีการใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา ไปตามอ่านกันต่อเลย
ซื้อเหรียญคริปโตกับกระดานไบแนนซ์ คลิก
เทรนด์การนำ NFT ไปใช้งานจริง
ผลงานศิลปะ
NFT ส่วนใหญ่ในตลาดจะถูกนำไปใช้ในแง่ของผลงานศิลปะ ซึ่งก็มีศิลปินมากมายที่เข้ามาทำงานอาร์ทในรูปแบบดิจิทัล เหมือนได้เปิดช่องทางการขายผลงานให้กับตัวศิลปินเอง และไม่ต้องทำใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เพียงแค่สร้างภาพผลงานขึ้นมา จากนั้นก็เอาไป Mint (การทำให้ผลงานกลายเป็นโทเคน ที่สามารถโอนย้ายไปมาได้) และนำไปขายให้ผู้ที่สนใจซื้อ ซึ่งการนำ NFT ไปใช้ในรูปแบบผลงานศิลปะนั้นถือเป็นสัดส่วนใหญ่สุดในโลกของ NFT ตัวผลงานสามารถเป็นได้ทั้งแบบไฟล์ภาพ JPEG , ภาพขยับได้แบบ GIFs , ภาพถ่าย , คลิปวิดีโอสั้น , ภาพ 3D ทั้งแบบนิ่งและแบบเคลื่อนไหว ในส่วนของราคาก็มีขายกันตั้งแต่หลักไม่กี่บาท ไปจนถึงหลายร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
ผลงาน NFT ชื่อดัง เช่น Crypto Punk , ผลงาน Bored Ape Yacht Club ผลงานของ Beeple เป็นต้น ดูเพิ่มเติมที่ โปรเจ็กต์ NFT ทำเงินสูงสุด 2022
วงการเกม
ในทุกๆ วัน มีคนสองล้านคนกำลังเล่นเกมแบบ Play to Earn อย่างเช่น Axie Infinity , Decentraland , เกม Sandbox และอีกมากมาย ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 3,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ผู้คนกำลังเล่นเกมและทำการซื้อขายทรัพย์สินต่างๆ ในเกมอย่างสนุกสนาน ตัวอย่าง NFT ในเกม เช่น ตัวอวาตาร เครื่องประดับ อาวุธ ไอเทมต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ และยังมีการทำ NFT ในแบบของ DLC (Downloadable Content) เอาไว้ขายเพิ่มได้อีก
ในอนาคตตลาดนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้เล่นเกมสามารถเข้าไปเล่นเกม ทำเงิน และเอาเงินคริปโตไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ทั้งในเกมและใช้ได้ในชีวิตจริงด้วย
วงการแฟชั่น
แบรนด์หรูหราระดับไฮเอนด์หลายเจ้าต่างก็ตบเท้ากันเข้ามาในวงการ NFT อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น Dolce & Gabbana ที่ขายสินค้าทั้งหมด 9 ชิ้นในคอลเล็กชั่น “Collezione Genesi” ไปด้วยราคา 5.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งในเซ็ทจะประกอบด้วยชุดที่ใส่ได้จริง และงานในรูปแบบของ NFT คู่กันไปด้วย นอกจากนี้ยังมีแบรนด์หรูอย่าง Gucci , แบรนด์ Louis Vuitton , แบรนด์ RTFKT ผู้นำวงการแฟชั่นในโลก NFT และยังมีแบรนด์ Srreet Wear อย่างเช่น Nike , Addidas ที่ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นวิธีทำเงินและการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ จาก NFT ตัวอย่างเช่น คนที่เล่น Sneaker (รองเท้าผ้าใบ) เมื่อไหร่ที่ต้องทำการซื้อมาขายไป เราต้องวุ่นวายกับการแพ็คของส่งของ แต่ลองนึกภาพว่าถ้าเราสามารถเพิ่มความเร็วในการเทรดของเหล่านี้ได้ล่ะ เมื่อ Sneaker มาอยู่ในรูปของ NFT สินค้าของเราก็ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น แล้วเราก็ทำเงินได้มากขึ้นตามไปด้วย ถือว่าน่าสนใจมากๆ ทีเดียว
ตั๋วเข้าชมงาน คอนเสิร์ต
NFT สามารถนำไปใช้ในแง่ของการเป็นตั๋วเข้าชมงานต่างๆ ทั้งงานสัมนา งานมีตติ้ง คอนเสิร์ต และอีกมากมาย ซึ่งข้อดีของการทำตั๋วเข้างานในแบบ NFT มีหลายข้อ เช่น
- มันอาจเป็นผลงานภาพวาดสวยๆ จากศิลปินที่คุณชื่นชอบ
- เป็นของที่ระลึกได้ ที่ยิ่งนานวันยิ่งมีคุณค่า
- ภายในงาน NFT อาจใช้ในการแลกขนมและเครื่องดื่มได้
- ด้วยความวิเศษของ Smart Contract สัดส่วนรายได้จากการขาย NFT จะถูกแบ่งให้กับทีมงานโดยอัตโนมัติ เช่น แบ่งให้ศิลปิน 40% ดีเจ 10% ทีมจัดแสง 2% แม่บ้าน 1% เป็นต้น ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางในการจัดสรรรายได้เหล่านี้เลย แปลว่าเราไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ
- ถ้าคุณซื้อตั๋วแบบ VIP ตัว NFT จะปลดล็อคให้คุณเข้าหลังเวทีไปเจอศิลปินได้ และยังสามารถเข้าถึงสินค้าดิจิทัลได้ในอนาคตอีกด้วย
- NFT ยังสามารถทำให้คุณเป็นมากกว่าผู้ชมงานธรรมดา แต่ยังสามารถเป็นผู้ถือหุ้นในงานครั้งนี้ได้อีกด้วย ด้วยฟังก์ชั่นแห่งความเสมอภาคของ NFT คุณสามารถได้รับส่วนแบ่งจากกำไรในการจัดงานนี้ แปลว่านอกจากจะได้เข้าชมงานที่ชอบแล้วยังสามารถได้เงินกลับบ้านไปด้วย
สิทธิพิเศษเหล่านี้บางส่วนทำได้จริง มีการใช้งานจริง แต่ในบางส่วนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันต่อไปในอนาคต หวังว่าเราจะได้เห็นอะไรสนุกๆ อีกมากในโลกของ NFT
ตัวอย่างการใช้ NFT เพื่อใช้เป็นตั๋วเข้างาน ใช้แลกของ และแลกรับสิทธิพิเศษต่างๆ ในงาน Coachella ดูเพิ่มเติมที่นี่
วงการดนตรีและสื่อ
ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนรูปแบบของเพลงให้กลายเป็น NFT ขึ้นมาแล้ว ทำให้ NFT เกิดการพัฒนาไปในวงการของดนตรีและสื่อมากขึ้น ซึ่งตัว NFT นั้นสามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ Catalog ตลาดที่มีไว้สำหรับขาย NFT แบบเพลงโดยเฉพาะ
การเปลี่ยนผ่านจากเพลงที่อยู่ในรูปของสินค้ากลายมาเป็นโทเคนนั้น ให้ประโยชน์กับศิลปินในหลายแง่ เช่น การเข้าถึงผู้ฟังใหม่ๆ และเหล่าแฟนคลับได้โดยตรง โดยการให้ประสบการณ์แบบพรีเมี่ยมแก่ผู้ฟัง
นอกจากนี้แล้ว NFT ยังให้สิทธิ์ในการรับรายได้แบบ 100% แก่ศิลปิน โดยไม่ต้องห่วงเรื่องส่วนแบ่งของค่ายเพลงหรือแพลตฟอร์มที่ปล่อยผลงานเพลงเลย
ตัวอย่างศิลปินที่เข้ามาใน NFT และสร้างผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น Shawn Mendes, Grimes และ Snoop Dogg ที่เข้าไปเปิดคอนเสิร์ตตัวเองในเกม The Sandbox
DeFi NFTs
รู้หรือเปล่าว่าตอนนี้ NFT ก็สามารถนำไปใช้แบบ DeFi ได้แล้วนะ DeFi NFTs ย่อมาจาก Decentralize Finance NFTs (การเงินแบบกระจายศูนย์ในรูปของ NFT) ตัวอย่างเช่น เราซื้อ Crypto Punk มูลค่า 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเอาไว้ แล้วลืมไปว่าต้องจ่ายค่าบ้านด้วย คุณสามารถนำ NFT ที่มีมูลค่าเหล่านั้นไปขอสินเชื่อเพื่อทำการยืมเงินได้เลยที่ NFTfi ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกันกับเวลาที่เราเอารถยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์ขอเงินมาหมุนด่วน พอเราจ่ายหนี้ครบ ทรัพย์สินชิ้นนั้นก็จะกลับมาเป็นของเราตามเดิม
นอกจากนี้แล้ว NFT ยังสามารถทำเป็นแบบ Fractionalize (แบ่งเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อความคล่องตัว) ได้ด้วย NFT Art บางชิ้นมีราคาสูงมากจนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะซื้อได้ การทำแบบ Fractionalize จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเราเข้าไปลงทุนในส่วนเล็กๆ ของภาพนั้นได้ ซึ่งก็จะทำให้เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้นด้วย
ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะมีนวัตกรรมทางด้านการเงินเพิ่มเติมที่จะมาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับวงการ NFT เช่น การนำไอเทมหายากของเกม เอามาปล่อยกู้ในตลาด Secondary Market อย่างเช่น Opensea เพื่อแลกเป็นเงินนำไปใช้จ่าย จากนั้นค่อยนำเงินมาคืน เป็นต้น
Metaverse
Metaverse จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในโลก NFT ซึ่ง Metaverse สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่สำหรับจัดเก็บและชื่นชมผลงาน NFT เป็นจุดเชื่อมของเกม และอาจจะกลายเป็นจุดนัดพบกับเพื่อนๆ แห่งใหม่บนโลกออนไลน์ ดูตัวอย่างได้จากเกม Decentraland
พื้นที่ชุมชน NFT
เวลาที่เราซื้อ NFT นั้น บางโปรเจ็กต์ก็จะให้สิทธิ์ในการเข้า Community หรือแบบกลุ่มลับ ที่จะมีสิทธิพิเศษมากมายเอาไว้มอบให้เฉพาะคนที่ถือชิ้นงานนั้นๆ ดูตัวอย่างได้จาก The Bathroom ของทีม Yuga Labs และคอมมูนิตี้ The Garden ของทีม Azuki
ในอนาคตเราน่าจะได้เห็นแบรนด์ต่างๆ สร้างพื้นที่ให้ลูกค้าเข้ามารวมตัว พบปะ พูดคุยกัน ได้อวด NFT กับเพื่อนๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นอาจจะอยู่ในรูปแบบของ *AR และ *VR คงเป็นเรื่องที่น่าสนุกทีเดียว ดูเพิ่มเติมได้ที่ Oncyber.io
*AR ย่อมาจาก Augmented Reality คือ เทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน จะเห็นได้จากการเปิดตัว Pokemon GO เกมบน Smartphone ที่ผสมผสาน AR ในการเล่นจากค่าย Nintendo
*VR ย่อมาจาก Virtual reality คือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง โดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส
ที่ดินในโลกเสมือน
ที่ดินในเกมเป็นสิ่งที่มีจำนวนจำกัด โลกเสมือนอย่างเช่น Decentraland , The Sandbox , Otherside ต่างก็สร้างอสังหาริมทรัพย์แบบจำกัดเอาไว้ เพื่อให้มันมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต ท่ามกลางกระแสการเติบโตของผลงานศิลปะ ของสะสม และเกม ที่ดินในโลกเสมือนก็เป็นสิ่งที่มีความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน ลองนึกภาพว่า เกมที่มีผู้เล่นกว่าล้านคน ก็คงต้องมีสักคนที่คิดอยากจะเป็นเจ้าของบนที่ดินนั้นจริงๆ
หลักการในการทำเงินบนที่ดินในโลกเสมือนนั้นก็เหมือนในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างเช่น คุณเป็นเจ้าของที่ดินผืนหนึ่ง แล้วคุณก็สร้างตึกออฟฟิศเอาไว้ปล่อยเช่าสำหรับงานสัมนาบนโลกออนไลน์ เมื่อผู้เข้าร่วมงานอยากจะหาอะไรทำในช่วงพักเบรก คุณก็ปล่อยเช่าพื้นที่สำหรับเกมคาสิโนและอื่นๆ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เล่นในแบบที่สามารถได้และเสียเงินจริงๆ ในรูปเงินคริปโต
ทรัพย์สินทางปัญญา
NFT เป็นสิ่งที่ดีมากในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร ตัว NFT ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของในตัวเนื้อหาได้ ซึ่งการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์
เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถแยกให้เห็นความต่างได้โดยการดูจาก Timestamps (การประทับเวลา) หรือจากประวัติข้อมูลทั้งหมดของตัวทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ ห่วงโซ่ของ NFT จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็ทำให้เจ้าของ NFT สามารถพิสูจน์ได้ว่าเค้าคือผู้สร้างงานชิ้นนั้นไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหน
เช่นเดียวกับสิทธิบัตร NFT สามารถใช้ในการปกป้องและยืนยันความเป็นเจ้าของนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ได้ NFT ให้ข้อมูลที่จำเป็นในการยืนยันตัวตน จากนั้นจึงสร้างบัญชีแยกประเภทสาธารณะที่บันทึกธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร
โซเชียลมีเดีย และผู้ทรงอิทธิพล
ทวิตเตอร์ได้เข้าร่วม NFT ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน PFP เข้ามา ที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถนำภาพ NFT ที่เราเป็นเจ้าของมาเปลี่ยนเป็นรูปโพรไฟล์ของตัวเองได้ โดยรูปนั้นจะอยู่ในทรงหกเหลี่ยม และมีปุ่มให้คนคลิกเพื่อดูข้อมูลของ NFT นั้นได้เลย ทำตามได้ดังนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กก็ได้บอกว่า Instagram จะเพิ่มฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อภาพโพรไฟล์แบบ NFT ด้วยเช่นกัน
สำหรับ Influencer การที่เป็นคนดังบนแพลตฟอร์ม มีแฟนคลับมากมาย แต่กลับได้ส่วนแบ่งเพียงนิดเดียวเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดูไม่ยุติธรรมเลยใช่ไหม แล้วถ้าเราสามารถดูปริมาณ จัดอันดับความมีอิทธิพลในรูปแบบ NFT ได้ล่ะจะเป็นยังไง หาก Influencer สามารถเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากความสัมพันธ์ที่มีกับคอมมูนิตี้ อย่างเช่น ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ไปจนถึงความสามารถในการคัดกรองและสร้างสรรค์คอนเท้นท์ที่ดี แล้วรวบรวมไว้ใน NFT คล้ายกับการมี Credit Score ในสหรัฐอเมริกา ก็จะทำให้ NFT ของ Influencer นำไปใช้ในทาง DeFi อย่างเช่น การกู้ยืมเงิน คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย
การระดมทุน
โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่มีโครงการจะทำธุรกิจสร้างเม็ดเงินในรูปแบบต่างๆ จะใช้วิธีระดมทุนด้วยการสร้างเหรียญคริปโตขึ้นมา เพื่อให้ผู้สนใจโครงการสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจได้ เมื่อบริษัทมีผลกำไรมากขึ้น มีผู้ใช้งานเยอะขึ้น มูลค่าของเหรียญนั้นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ผู้ถือเหรียญก็มีโอกาสได้กำไรจากสิ่งนี้ ซึ่งวิธีจำเป็นต้องใช้ทีมงานจำนวนมาก และมีนักพัฒนาที่เก่งอยู่ในองค์กร การเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
ในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีอย่าง NFT ที่สามารถนำงานศิลปะมารวมกับโทเคน มีความซับซ้อนน้อยกว่าการทำบริษัทคริปโตแบบเดิมๆ จึงทำให้มีการนำ NFT มาใช้ในแง่ของการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการที่ทำอยู่ให้สำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้ และนักลงทุนยังสามารถเก็งกำไรจากการนำ NFT ไปขายต่อได้อีก เราสามารถดูแผนงานของบริษัทหรือทีมได้จาก Whitepaper เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสเบื้องต้น
การตลาด
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่าแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ ได้เข้ามาร่วมวงทำ NFT กันหลายเจ้า และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จึงทำให้ในอีกไม่นาน จะมีแบรนด์อื่นๆ มาทำ NFT เพิ่มกันด้วย ไม่เฉพาะแต่ในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่จะมีแบรนด์สินค้าทั่วไปที่เข้ามาร่วมด้วยอีกมากมาย อย่างเช่น แบรนด์มันฝรั่งทอด Pringles ก็ได้ทำ NFT ชื่อว่า Pringle CryptoCrisp เพื่อให้เหล่าแฟนคลับนักสะสมมาซื้อเข้าคอลเล็กชั่น และยังมีแบรนด์กาแฟ Coffeebros ที่มีการสร้าง NFT คอลเล็กชั่น Cryptobaristas ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนปลูกกาแฟและชุมชน แถมยังช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันด้วย
อัตลักษณ์ในแบบดิจิทัล
การพิสูจน์อัตลักษณ์ หรือแบบที่เข้าใจง่ายคือ การพิสูจน์ตัวตน เป็นสิ่งที่บล็อกเชนพยายามทำมาตลอด ซึ่ง NFT จะมาไขประตูเหล่านั้น การที่สามารถยืนยันได้ว่าข้อมูลจริงของเราคืออันไหน ไม่ว่าจะเป็นตัวบัตรประชาชน แอคเคาท์อินสตาแกรม แอคเคาท์ทวิตเตอร์ ด้วยความที่เป็นแบบ Decentralize คุณเลยสามารถเป็นเจ้าของชื่อตัวเองได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้แล้ว NFT ในรูปแบบนี้ไม่สามารถนำไปขายแลกเป็นเงินได้ แต่มันสามารถช่วยพิสูจน์ว่าคุณเป็นเจ้าของสิ่งนั้นจริงๆ และยังมีอีกไอเดียที่ NFT จะถูกใช้เป็นตัวเก็บประกาศษณียบัตรจากมหาวิทยาลัย เพื่อลดปัญหาการตรวจสอบข้อมูลว่าสิ่งที่เขียนลงในเรซูเม่นั้น จริงหรือไม่
วงการกีฬา
มีการนำ NFT ไปทำเป็นการ์ดสะสมรูปเหล่านักฟุตบอลจากสโมสรชื่อดัง อย่างเช่น บาร์เซโลนา ลิเวอร์พูล ดูเพิ่มเติมที่ Sorare , ทีมบาสเกตบอล NBL ไปจนถึงกีฬามวยไทยที่มีบัวขาวเป็นไอคอนหลัก
และยังมีการเอาทีมดังมาทำเป็น Fan Token ได้อีก ดูตัวอย่างของทีม ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่นี่ แต่โดยภาพรวมแล้ว NFT กับวงการกีฬายังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร
วงการสื่อสิ่งพิมพ์
นิตยสารชื่อดังหลายแบรนด์ เช่น Vogue Singapore ได้ทำหน้าปกนิตยสารออกมาให้เป็นแบบ NFT โดยผู้ซื้อสามารถเก็บสะสมหน้าปกเล่มไว้ได้ด้วย และยังมีนิตยสาร Time ฉบับเดือนมีนาคม 2022 มีหน้าปกเป็น Vitalik Butelin ที่มาในรูปแบบของ NFT และสามารถอ่านเนื้อหาทั้งเล่มได้แบบ Interactive บนบล็อกเชนด้วย
นอกจากนี้ยังมีนิตยสารในรูปแบบ NFT โดยเฉพาะ อย่างเช่น The NFT Mag ซึ่งทำเนื้อหาเกี่ยวกับวงการศิลปะและ NFT รวมไปถึงการทำงานร่วมกันกับศิลปินที่ได้รับคัดเลือก คาดว่าในอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นนิตยสารหรือแม็กกาซีนที่มาในรูปแบบของ NFT มีมากมากขึ้นในตลาดอย่างแน่นอน
ที่มาเนื้อหา
- https://www.coindesk.com/business/2021/10/14/15-nft-use-cases-that-could-go-mainstream/
- https://justcreative.com/types-of-nfts/
- https://www.hongkiat.com/blog/nft-use-cases/
บทส่งท้าย
จะเห็นได้ว่า NFT นั้นได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะใช้แค่ในวงการศิลปะและเกม แต่ปัจจุบัน NFT ยังถูกนำไปใช้ในวงการแฟชั่น วงการกีฬา วงการเพลง ใช้ในทางกฏหมาย การเงิน และอีกมากมาย ทำให้โลกของ Web3 เข้าใกล้โลกของความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า NFT จะเป็นเรื่องที่ปกติขึ้น ดูอย่างในทุกวันนี้ที่ทุกคนใช้เวลาชีวิตส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ ซึ่งอนาคตคนก็จะไปใช้ชีวิตบนโลกเสมือนหรือ Metaverse กันมากขึ้น พอเราต้องไปเจอเพื่อนๆ ในนั้น เราก็อยากจะอวดของที่เรามีในรูปแบบของ NFT ด้วยเช่นกัน ของที่ใช้ในชีวิตจริงจะกลายเป็นดิจิทัล ทุกคนจะต้องการ NFT สำหรับ ไวน์หายากของตัวเอง , NFT รองเท้าผ้าใบ , NFT นาฬิกาแพง
นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีของ NFT จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น และช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่ใช่กระแสที่เพียงแค่แวะมาแล้วก็จากไป
Crypto Summer รวบรวมข้อมูลสำคัญในวงการคริปโต Web3 , NFT , Metaverse